ภาษาไทย

หลักภาษาไทย
กลุ่มคำและประโยค
กลุ่มคำ
ความหมายของกลุ่มคำ
กลุ่มคำ คือ ข้อความที่เกิดจากการนำคำตั้งแต่สองคำขึ้นไปมาเรียงติดต่อกัน ทำให้เกิดความหมายเพิ่มขึ้นตามความหมายของคำเดิมที่นำมารวมกัน แต่เป็นความหมายพอเป็นที่เข้าใจได้ยังไม่สมบูรณ์เป็นประโยค และไม่เกิดเป็นคำใหม่ชนิดใดชนิดหนึ่ง คือ คำประสม คำซ้อน คำซ้ำ คำสมาส หรือคำสนธิ
ชนิดของกลุ่มคำ
วลีหรือกลุ่มคำในภาษาไทยจำแนกได้เป็น 7 ชนิด ตามชนิดของคำที่ปรากฏในตำแหน่งต้นของวลี ดังนี้
1. นามวลี เช่น นกขุนทอง ผ้าทอพื้นบ้าน หนองขาว พนักงานโรงงานผลิตหน่อไม้กระป๋อง
2. สรรพนามวลี เช่น เราทุกคน ท่านคณะกรรมการสภาประจำสถาบันราชภัฏ- กาญจนบุรี ข้าเบื้องยุคลบาท
3. กริยาวลี เช่น โต้แย้งทุ่มเถียง เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า อิดหนาระอาใจกำลังโค้งคารวะ
4. วิเศษณ์วลี เช่น ก้องกังวาน ที่ใช้ขยายคำนามในคำว่า เสียงก้องกังวาน สุดที่จะพรรณนา ขยายคำกริยาว่า สวย ในคำว่า สวยสุดที่จะพรรณนา
5. บุพบทวลี เช่น ท่ามกลางฝูงชน จากคนบ้านไกล ตามคำสั่งสอน
6. สันธานวลี เช่น ถึงอย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ ถ้าหากว่า
7. อุทานวลี เช่น พุทโธ่เอ๋ย! ตาเถรตกน้ำ! อกอีแป้นแตก!

หน้าที่ของกลุ่มคำ   
กลุ่มคำที่ทำหน้าที่ต่างๆ ในประโยคเช่นเดียวกับคำชนิดต่างๆ ดังนี้
         1. กลุ่มคำที่ใช้เหมือนคำนาม
    - สภาพเศรษฐกิจของพม่าตกอยู่ในฐานะลำบากมาก (เป็นประธาน)
    - แนวปะการังนั้นเป็นแหล่งที่น่าสนใจศึกษา (เป็นประธาน)
         2. กลุ่มคำที่ใช้เหมือนสรรพนาม
  • ท่านให้เกียรติแก่พวกเราทุกคน (เป็นกรรม)
  • คณะนักกีฬาเหล่านั้นจะออกเดินทางวันนี้ (เป็นประธาน)
        3. กลุ่มคำที่ใช้เหมือนคำกริยา
     - เขากำลังนอนหลับปุ๋ยอย่างสบายบนเตียงนอน (เป็นตัวแสดง)
     - เด็กน้อยนั่งเขย่าตัวไปตามจังหวะเพลง (เป็นตัวแสดง)
         4. กลุ่มคำที่ใช้เหมือนคำบุพบท
     - เขานอนอ่านหนังสืออยู่แถวๆข้างหลังบ้าน ( เชื่อมคำกริยากับนาม)
     - เขากันเงินส่วนหนึ่งสำหรับเพื่อหาเสียง ( เชื่อมกลุ่มคำนามกับคำกริยา)
         5. กลุ่มคำที่ใช้เหมือนคำวิเศษณ์
  • หล่อนเป็นคนที่มีจิตใจมั่นคงเข้มแข็งมาก ( เป็นตัวขยายนาม)
  • หลายต่อหลายครั้งที่เขาทำให้เราผิดหวัง (เป็นตัวขยายกริยา)
            6. เป็นกลุ่มคำที่ใช้เหมือนคำสันธาน
    - เขายังอดทนสู้ต่อไป ถึงแม้ว่ากำลังเขาจะถดถอยลงไปทุกวัน
( เชื่อมประโยคกับประโยค)

    - น้ำในเขื่อนลดลงไปมาก เพราะฉะนั้นจึงควยช่วยกันประหยัดน้ำ
(เชื่อมประโยคกับประโยค)
            7. กลุ่มคำที่ใช้เหมือนคำอุทาน
                       - อะไรกันนักกันหนา! จะเก็บเงินอีกแล้วหรือนี่
                       - โอ๊ยตายแล้ว! ลืมปิดแก๊ส

ประโยค
ความหมายของประโยค
ประโยค คือ ถ้อยคำที่เรียบเรียงขึ้นเพื่อแสดงความคิดหรือเรื่องราวที่สมบูรณ์ ซึ่งเริ่มแรกจะต้องประกอบด้วยประธานและกริยา และประโยคยังมีหน้าที่ใช้สื่อความหมายให้สมบูรณ์ หรือนำประโยชน์หลาย ๆ ประโยคมาเรียบเรียงให้เป็นเรื่องราวได้

โครงสร้างของประโยค
ประโยคจะมีความสมบูรณด้วย จะต้องประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ ภาคประธานและภาคแสดง
ภาคประธาน หมายถึง ส่วนสำคัญของข้อความเป็นผู้กระทำ กำ ส่วนใหญ่เป็นคำนาม หรือสรรพนาม ภาคประธานประกอบด้วย บทประธาน และ/ หรือ บทขยายประธานหรือความเป็นไป
ส่วนภาคแสดง หมายถึง ส่วนที่แสดงกิริยาอาการหรือความเป็นไปของภาคประธาน ประกอบด้วย บทกริยา บทขยายกริยา บทกรรม และบทขยายกรรม ( ถ้ามี)

การจำแนกประโยคในภาษาไทย
การจำแนกชนิดของประโยคในภาษาไทยสามารถจำแนกได้หลายวิธี ดังนี้
1. จำแนกตามรูปประโยค
    การจำแนกตามประโยค เป็นการจำแนกโดยเน้นความสำคัญที่คำขึ้นต้นประโยค มี 5 ชนิด คือ
         1 . ประโยคกรรตุ คือ ประโยคที่มีกรรตุการก ( ผู้กระทำ) เป็นประธานอยู่ข้างหน้าประโยค เช่น
            ครูสอนหนังสือ
            พ่อรักลูก
            รถแล่นเร็ว
         2. ประโยคกรรม คือ ประโยคที่นำเอากรรมการก ( ผู้ถูกกระทำ) ขึ้นมาไว้ข้างหน้าประโยค เช่น
            นักเรียนถูกครูตี
            ขนมนี้กินอร่อย
           เสื้อตัวสีแดงของฉันถูกลักไปแล้ว

        3 . ประโยคกริยา คือ ประโยคที่ผู้พูดต้องการเน้นคำกริยา จึงเอาคำกริยาขึ้นมากล่าวไว้ก่อนบทประธาน คำกริยานี้นิยมนำมาเรียงไว้ต้นประโยค มีเฉพาะกริยาที่มีความหมายว่า เกิด มี ปรากฏ เช่น
            - เกิดอุทุกภัยขึ้นที่ทางจังหวัดภาคใต้
           - มีพิธีกรรมหลายอย่างในงานวันนี้
           - ปรากฏเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดขึ้นแล้วในโลก

         4 . ประโยคการิต คือ ประโยคกรรตุ หรือประโยคกรรม ที่มีผู้รับใช้แทรกเข้ามา โดยมีกริยา ให้เป็นกริยาสำคัญ เช่น
            - แม่ให้น้องทำอาหารเช้า
           -นักศึกษาถูกอาจารย์สั่งให้ทำรายงาน
           - คุณพ่อบอกให้แม่รีบกลับบ้านทันที

         5. ประโยคกริยาสภาวมาลา คือ ประโยคที่มีกริยาสภาวมาลาขึ้นต้นประโยค ( กริยาสภาวมาลา เป็นคำกริยาที่นำมาใช้เป็นคำนามปรากฏในตำแหน่งประธานของประโยค) เช่น
            - วิ่งออกกำลังเวลาเช้าทำให้ร่างกายแข็งแรง
            - ทำงานอย่างสม่ำเสมอมีผลต่อสุขภาพจิตที่ด

2. จำแนกตามเจตนาของผู้ส่งสาร
จำแนกตามเจตนาของผู้ส่งสาร มี 5 ชนิด คือ
1. ประโยคบอกเล่า คือ ประโยคที่มีใจความที่เป็นกลาง ๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวทั่วไป ไม่เป็นคำถาม ไม่เป็นปฏิเสธ ไม่เป็นคำสั่งหรือคำขอร้อง
2. ประโยคคำถาม คือ ประโยคที่มีใจความเป็นคำถามและต้องการ คำตอบ เช่น
- ใครเห็นเป้ของผมบ้าง - เธอกำลังคิดถึงอะไรอยู่
3. ประโยคปฏิเสธ คือ ประโยคที่มีใจความปฏิเสธหรือไม่ตอบรับ ซึ่งจะมีคำวิเศษณ์ที่แสดงความปฏิเสธประกอบอยู่ด้วย เช่น
- ฉันไม่ชอบที่นี่เลย - พ่อมิได้มาเยี่ยมนานแล้ว
4. ประโยคคำสั่ง คือ ประโยคที่ส่งสารเพื่อสั่งให้ทำตาม หรือห้ามมิให้ทำตาม มักละภาคประธาน เช่น
- ( เธอ) เดินดีๆนะ - ( เธอ) ห้ามทิ้งขยะบริเวณนี้
5. ประโยคขอร้อง คือ ประโยคที่ผู้ส่งสารเพื่อขอร้องวิงวอนหรือชักชวนให้ผู้รับสารกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น
- ช่วยหยิบปากกาให้ผมด้วยครับ - โปรดยืนเข้าแถวหน้าห้องเรียนทุกเช้า

3. จำแนกตามส่วนประกอบของประโยค
จำแนกตามเนื้อความในประโยค จำแนกออกเป็น 3 ชนิดใหญ่ ๆ คือ
1. เอกรรถประโยค( ประโยคความเดียว)
เอกรรถประโยค ( ประโยคความเดียว) คือ ประโยคสามัญที่มีใจความเพียงอย่างเดียว กล่าวคือ มีภาคประธานและภาคแสดงเพียงอย่างเดียว เช่น
- ฟ้าแลบ ( ฟ้าเป็นประธาน แลบ เป็นภาคแสดง)
- นักศึกษาไปห้องสมุดทุกวัน ( นักศึกษาเป็นภาคประธาน ไปห้องสมุดทุกวัน เป็นภาคแสดง)
2. อเนกรรถประโยค หรือประโยคความรวม
อเนกรรถประโยค หรือประโยคความรวม หมายถึง เป็นประโยคที่มีเอกรรถประโยคตั้งแต่ ๒ ประโยคขึ้นไปมารวมกัน โดยมีสันธานตัวใดตัวหนึ่งเป็นบทเชื่อมต่อ อเนกรรถประโยคแบ่งเป็นชนิดย่อย ตามชนิดของสันธานที่ทำให้เนื้อความแตกต่างกัน 4 ชนิด คือ
2.1 อันวยาเนกรรถประโยค ได้แก่ อเนกรรถประโยค ที่มีเนื้อความคล้อยตามกัน อาจจะคล้อยตามกันตามเวลา ตามการกระทำหรือตามสัญญานก็ได้ มักมีสันธานต่อไปนี้ และ….. ก็ แล้ว….. จึง ครั้น….. จึง เป็นต้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- ผมมาถึงเขาก็ไปพอดี
- ครั้นรถไฟออกจากสถานี เขาจึงเดินทางมาถึง
- พ่อกับแม่ไปตลาดนัด
2.2 พยติเรกาเนกรรถประโยค ได้แก่ อเนกรรถประโยคที่มีเนื้อความขัดแย้งกัน สันธานที่ใช้เชื่อมมีดังนี้ แต่ แต่ทว่า ถึง….. ก็ กว่า…. ก็ เป็นต้น ดังตัวอย่าง
- ฉันมีวิชา แต่เขามีทรัพย์
- กว่าเธอจะมาถึงเขากลับไปเสียแล้ว
- ถึงหล่อนจะเป็นคนปากร้ายฉันก็ชอบหล่อน
2.3 วิกัลปา เนกรรถประโยค ได้แก่ อเนกรรถประโยคที่มีเนื้อความให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง สันธานที่ใช้เชื่อมมีดังนี้ หรือ มิฉะนั้น ไม่เช่นนั้น เป็นต้น ดังตัวอย่าง - คุณจะกลับบ้านหรือไปดูภาพยนตร์
- คุณต้องมาสอบปลายภาคไม่เช่นนั้นจะหมดสิทธิ์ได้รับทุนการศึกษา
2.4 เหตวาเนกรรถประโยค ได้แก่ อเนกรรถประโยคที่มีเนื้อความเป็นเหตุเป็นผล ( เหตุต้องมาก่อนผล) สันธานที่ใช้เชื่อมมีดังนี้ จึง ฉะนั้น ฉะนั้น…. จึง ดังนั้น เพราะเหตุนั้น เป็นต้น ดังตัวอย่าง
- เขาไม่ขยันอ่านหนังสือจึงสอบตก
- เขาตั้งใจทำงานฉะนั้นเขาจึงประสบความก้าวหน้า
- เขาประพฤติดีเพราะฉะนั้นเพื่อนบ้านจึงรักเขา
3. สังกรประโยค หรือประโยคความซ้อน
หมายถึงประโยคซึ่งประกอบด้วยประโยคหลักหรือประโยคสำคัญ และมีประโยคย่อยซึ่งเป็นประโยคความเดียวซ้อนอยู่ ประโยคย่อยที่ซ้อนอยู่อาจทำหน้าที่เป็นประธาน บทขยายประธาน กรรม หรือบทขยายกรรมของประโยคหลักนั้นเอง
ตำราหลักภาษาไทยของพระยาอุปกิตศิลปสาร เรียกประโยคหลักซึ่งเป็นประโยคสำคัญว่า มุขยประโยค และประโยคย่อยที่ซ้อนเข้ามาว่า อนุประโยค
สังกรประโยคแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ตามชนิดของอนุประโยค คือ
3.1 สังกรประโยคที่มีนามานุประโยคเป็นส่วนประกอบ นามานุประโยค คือ อนุประโยคที่ทำหน้าที่แทนคำนาม คำสรรพนาม หรือกริยาสภาวมาลา เช่น
- ครูสอนวิชาภาษาไทยเป็นคนเล่นดนตรีเก่ง
- คนโบราณมักสอนกันว่าไก่งามเพราะขนคนงามเพราะแต่ง
- กิจการของพ่อค้าขายของเก่ากำลังเจริญรุ่งเรือง
3.2 สังกรประโยคที่มีคุณานุประโยคเป็นส่วนประกอบ คุณานุประโยคหมายถึง อนุประโยคที่ทำหน้าที่แทนคำวิเศษณ์สำหรับประกอบนามหรือสรรพนาม มีประพันธสรรพนาม ได้แก่ ผู้ ที่ ซึ่ง อัน เป็นบทเชื่อม เช่น
  • สุนัขที่เห่ามาก ๆ มักไม่กัดคน
  • อาหารที่มีสีสวย ๆ อาจเป็นอันตรายได้
  • ฉันชอบบ้านที่ตั้งอยู่บนเนินเขา
3.3 สังกรประโยคที่มีวิเศษณานุประโยคเป็นส่วนประกอบ วิเศษณานุประโยคหมายถึง อนุประโยคที่ทำหน้าที่เป็นวิเศษณ์ประกอบกริยา หรือวิเศษณ์ด้วยกันเอง มีบทเชื่อมเช่น เมื่อ จน เพราะ เพราะว่า เป็นต้น ดังตัวอย่าง
  • เขาเดินเร็วจนฉันเดินตามไม่ทัน
  • เขามีความรู้เพราะเขาอ่านหนังสือมาก
  • หล่อนจะมาทันทีเมื่อผมคิดถึงหล่อน

ประโยคที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
ประโยคที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น หมายถึง ประโยคความเดียวหรือประโยคความรวม หรือประโยคความซ้อนที่มีส่วนขยายเป็นคำหรือกลุ่มคำหรือเป็นประโยคย่อยที่เกาะเกี่ยวกันอยู่อย่างยืดยาวสลับซับซ้อน
ประโยคที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นนี้อาจทำให้ผู้รับสารคือผู้ที่ได้อ่านหรือฟังเกิดความสับสนได้ ถ้าไม่พิจารณาให้ดี ดังจะแสดงให้เห็นต่อไปนี้
1. ประโยคความเดียวที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
1.1 ความซับซ้อนในภาคประธาน
- ความเมตตาของพระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์ต่อพสกนิกร
ชาวไทย เป็นคุณูปการอันหาที่สุดมิได้
- เมื่อถึงสนามบินดอนเมืองหัวหน้ากลุ่มคนงานไทยตามหลักฐานในบัญชี
ของกระทรวงการต่างประเทศได้หายตัวไปแล้ว
1.2 ความซับซ้อนในภาคแสดง
- ทุกคนมีความพยายามอย่างยิ่งยวดในการต่อสู้วิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้
- เครื่องบินจู่โจมเข้าไปทิ้งระเบิดติดขีปนาวุธยังจุดยุทธศาสตร์ทางด้านทหาร
2. ประโยคความรวมที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น
- การอ่านหนังสือมิได้ให้ประโยชน์เฉพาะด้านความรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำหรับแสวงหาความรู้ตลอดชีวิตอีกด้วย
ประโยคนี้เป็นประโยคความรวมที่เกิดจากประโยคความเดียวที่มีความซับซ้อน 2 ประโยคมารวมกัน โดยมีสันธาน แต่ เป็นตัวเชื่อม
- เขาเป็นนักเรียนที่เก่งทั้งด้านการเรียนและการกีฬาหากแต่ว่าเพื่อน ๆ ในห้องจำนวนมากไม่ชอบเขา เพราะเขาไม่มีความเอื้ออาทรต่อคนอื่น
3. ประโยคความซ้อนที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น
- นักบริหารที่ขาดความมั่นใจในตัวเองย่อมประสบความสำเร็จได้ยาก เพราะการ ตัดสินใจซึ่งมีพื้นฐานจากความไม่มั่นใจมักผิดพลาดได้ง่าย
4. ประโยคแสดงเงื่อนไขที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
ประโยคแสดงเงื่อนไขที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นหมายถึง ประโยคที่มีเนื้อความส่วนหนึ่งเป็นตัวเงื่อนไข และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลที่ตามมา ดังตัวอย่าง
- หากว่าฝนไม่ตกในช่วงบ่ายวันนี้ ฉันจะพยายามมาหาเธอที่บ้านให้ได้อย่างแน่นอน





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

งานถ่ายรูปสินค้า

งานถ่ายรูปสินค้า ภาพถ่ายนาฬิกา โดย   นางสาวปาริดา  เถาวัลย์ ม.6/1 เลขที่21 โรงรียนพิมานพิทยาสรรค์ จังหวัดสตู...